จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพุธที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2554

นักศึกษาคิดว่าระบบสารสนเทศมีบทบาทอย่างไรกับนักศึกษา

เทคโนโลยีสารสนเทศเรียนเกี่ยวกับอะไร

ในสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ จะศึกษาด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับข้อมูลข่าวสาร ทั้งด้านฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ โดยจัดเป็นหมวดหมู่ได้ดังนี้คือ
    1. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรมและซอฟต์แวร์ นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง วิธีการเขียนโปรแกรมด้วยภาษาต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ซึ่งภาษาที่ศึกษาหลักๆ ได้แก่ ภาษาซี ภาษาจาวา ภาษาพีเฮชพี และภาษาเอส คิวแอล เป็นต้น นอกจากนี้ยังศึกษาถึงหลักการเขียนโปรแกรมหรืออัลกอริธึม และศึกษาว่ามีโครงสร้างข้อมูลอะไรบ้างที่ใช้ในการเขียนโปรแกรม รวมทั้งศึกษาว่า ภาษาที่ใช้ในการโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีกี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะเฉพาะอย่างไร แตกต่างกันอย่างไร และศึกษาวิธีการแปลงภาษาระดับสูงที่มนุษย์เข้าใจ ไปเป็นภาษาเครื่องที่คอมพิวเตอร์สามารถเข้าใจได้ รวมทั้งศึกษาวิธีการเขียนออกแบบระบบ
    2. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคอมพิวเตอร์และการควบคุมคอมพิวเตอร์ นักศึกษาจะได้ศึกษาว่า คอมพิวเตอร์ประกอบด้วยวงจรไฟฟ้าแบบดิจิตอลอย่างไร และศึกษาว่าคอมพิวเตอร์มีโครงสร้างหรือสถาปัตยกรรมเป็นแบบใด และศึกษาว่านอกจากฮาร์ดแวร์แล้วคอมพิวเตอร์จำเป็นต้องมีโปรแกรมพื้นฐาน ไว้ติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ใช้กับคอมพิวเตอร์ ที่เรียกว่า ระบบปฏิบัติการหรือโอเอส รวมทั้งศึกษาวงจรคอมพิวเตอร์เฉพาะงาน ที่เรียกว่าไมโครโปรเซสเซอร์ และการนำไมโครโปรเซสเซอร์ไปประยุกต์ใช้งานต่างๆ และเทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นที่กล่าวถึงกันอยู่ในปัจจุบันก็คือ ระบบสมองกลฝังตัวซึ่งเป็นคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก ที่ฝังตัวอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ เช่น รถยนต์ โทรทัศน์ วิทยุ ตู้เย็น และเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ เป็นต้น
    3. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการสื่อสารระหว่างคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์สื่อสาร นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง พื้นฐานของการสื่อสารข้อมูล โครงสร้างและโปรโตคอลของเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (คอมพิวเตอร์เน็ตเวิร์ค) การนำคอมพิวเตอร์มาเชื่อมโยงกันเพื่อใช้งานร่วมกัน รวมทั้งศึกษาถึง การนำคอมพิวเตอร์ไปให้บริการต่างๆ ทางอินเตอร์เน็ต และเทคโนโลยีสารสนเทศบนเครื่องคอมพิวเตอร์แบบพกพา เช่น มือถือ เครื่องปาล์ม เป็นต้น
    4. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ในงานด้านกราฟิก มัลติเมเดีย นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง การประยุกต์คณิตศาสตร์ไปใช้กับการออกแบบชิ้นงานที่มีรูปร่างต่างๆ ซึ่งศาสตร์ด้านนี้รู้จักในชื่อของ ซอฟต์แวร์ประเภทแคด/แคม รวมทั้งการนำคอมพิวเตอร์ไปจัดการกับภาพและเสียง
    5. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการนำคอมพิวเตอร์ไปใช้ทำงานที่ชาญฉลาด นักศึกษาจะได้ศึกษาถึง วิธีการสร้างระบบสารสนเทศที่มีความชาญฉลาด หรือศาสตร์ที่ชื่อว่าปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งจะศึกษาเกี่ยวกับระบบสารสนเทศที่เลียนแบบมนุษย์ เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ ระบบวิเคราะห์ภาพ ระบบวิเคราะห์เสียง เป็นต้น
    6. เทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ นักศึกษาจะได้ศึกษาถึงระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี ระบบพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์ หรือ อีคอมเมิร์ซ และลักษณะการลงทุนด้านธุรกิจไอที

เทคโนโลยีสารสนเทศต่างกับวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างไร 


               คำถามที่ถูกถามบ่อยๆ ข้อหนึ่งก็คือ เทคโนโลยีสารสนเทศต่างกับวิทยาการคอมพิวเตอร์อย่างไร ที่จริงแล้วสองสาขานี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมาก โดยวิทยาการคอมพิวเตอร์นั้นถือกำเนิดมาก่อนเทคโนโลยีสารสนเทศ และจะเน้นด้านทฤษฏีเป็นหลัก โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับ โครงสร้างของเครื่องคอมพิวเตอร์ หลักการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ การผลิตซอฟต์แวร์ที่มีขนาดใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ การนำคอมพิวเตอร์มาใช้กับงานชั้นสูงที่มีความซับซ้อนมาก จุดเด่นของวิทยาการคอมพิวเตอร์คือ เน้นศึกษาวิธีการทำให้คอมพิวเตอร์มีสมรรถนะที่สูงขึ้น และศึกษาวิธีการผลิตซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพเพื่อใช้งานคอมพิวเตอร์ให้เกิดประโยชน์สูงที่สุด
สำหรับเทคโนโลยีสารสนเทศหรือไอทีนั้น ได้ถูกกล่าวถึงกันมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมานี้เองหลังจากอินเตอร์เน็ตเป็นที่แพร่หลาย โดยเทคโนโลยีสารสนเทศจะเน้นการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานด้านธุรกิจ งานด้านการสื่อสาร งานในสายการผลิต งานด้านบริการ เป็นต้น เทคโนโลยีสารสนเทศนั้นค่อนข้างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว โดยจะมีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา จุดเด่นของเทคโนโลยีสารสนเทศคือ เน้นศึกษาวิธีการนำคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ใช้งาน จัดการเกี่ยวกับข้อมูลข่าวสารหรือสารสนเทศ ซึ่งรวมไปถึงเทคโนโลยีระบบเคลื่อนที่ เช่น มือถือ และการจัดการธุรกิจและการลงทุนที่เกี่ยวกับสารสนเทศ




เรียนจบแล้วสามารถทำงานที่ไหนได้บ้าง
        
                  หลังจบสาขาวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศ นักศึกษาสามารถทำงานหรือศึกษาต่อระดับสูงได้ทั้งที่เป็นด้านเทคนิคและด้านการบริหารจัดการ โดยถ้าผู้สำเร็จการศึกษาสนใจด้านการบริหารจัดการนั้น การเรียนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศมีข้อได้เปรียบกว่าสาขาอื่นๆ คือ นักศึกษาจะมีความรู้ในเชิงเทคนิคที่แน่นพอ โดยเฉพาะ องค์กรเกือบทุกองค์กรในปัจจุบันใช้ระบบสารสนเทศในการบริหารจัดการ ดังนั้นนักศึกษาที่จบจะมีพื้นฐานที่ดีต่อการประกอบอาชีพในบริษัทหรือ องค์กรที่นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการจัดการ การจัดการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ นอกจากนี้นักศึกษาสามารถเลือกเรียนเพิ่มเติมด้านการบริหารจัดการทำให้สามารถทำงานด้านการให้คำแนะนำแก่บริษัทต่างๆ ได้ นักศึกษาที่จบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะสามารถทำงานได้ทั้งด้านเทคนิคและด้านการบริหารจัดการดังนี้
    1. งานด้านเทคนิคหรืองานผู้เชี่ยวชาญ
    • ผู้ออกแบบและวิเคราะห์ระบบสารสนเทศในบริษัทหรือองค์กรต่างๆ
    • ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ และบำรุงรักษาระบบสารสนเทศ
    • ผู้เขียนโปรแกรมประยุกต์หรือโปรแกรมระบบงาน หรือที่เรียกว่าโปรแกรมเมอร์
    • ผู้ออกแบบสร้างและบำรุงรักษาระบบฐานข้อมูลซึ่งเป็นระบบสารสนเทศพื้นฐานในทุกองค์กร
    • ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
    • ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบสารสนเทศอัจฉริยะ
    • ผู้ออกแบบและโปรแกรมระบบกราฟิกหรืออะนิเมชั่น
    2. งานด้านการบริหารจัดการหรืองานให้คำปรึกษา
    • ผู้ประสานงานในโครงการต่างๆที่เกี่ยวกับระบบสารสนเทศ
    • ผู้จัดการแผนก ส่วนหรือฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กร
    • ผู้ให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแก่องค์กรต่างๆ
    • ผู้ประกอบธุรกิจหรือนักลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
เรียนจบแล้วสามารถทำงานที่ไหนได้บ้าง
            จบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว เราสามารถทำงานได้ในทุกองค์กรที่มีคอมพิวเตอร์หรือระบบสารสนเทศอยู่ ซึ่งในปัจจุบันเกือบทุกองค์กรไม่ว่าที่เป็นของรัฐหรือเอกชน จะมีระบบสารสนเทศใช้งานอยู่แล้ว จึงทำให้ผู้จบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นที่ต้องการมาก อย่างไรก็ตามการทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในองค์กรมีสองประเภท คือ การทำงานในองค์กรหรือธุรกิจที่เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแกนหลัก และ การทำงานในองค์กรหรือธุรกิจที่เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ใช่แกนหลัก
ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศเป็นแกนหลักได้แก่ ธุรกิจผลิตซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ขาย ธุรกิจบริการด้านข้อมูลข่าวสาร ธุรกิจด้านการให้บริการระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ระบบอินเตอร์เน็ตหรือระบบเครือข่ายมือถือ ธุรกิจให้บริการด้านพาณิชย์อีเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศหรือที่เรียกว่าธุรกิจคอนซัลแตนต์
ธุรกิจที่เทคโนโลยีสารสนเทศไม่ได้เป็นแกนหลัก ได้แก่
    • ธุรกิจผลิตสินค้าหรือโรงงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านการเกษตร ด้านอาหาร ด้านรถยนต์ ด้านน้ำมัน ด้านไฟฟ้าและพลังงาน ด้านสินค้าอีเล็กทรอนิกส์ ด้านผลิตเครื่องจักรกล ด้านผลิตภาพยนตร์ เป็นต้น
    • ธุรกิจเชิงบริการ ได้แก่ ด้านการธนาคาร ด้านบัญชี ด้านขนส่ง ด้านโรงภาพยนตร์ ด้านค้าปลีกหรือร้านค้าซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นต้น
เรียนต่อด้านนัยได้บ้าง
จบสาขาเทคโนโลยีสารสนเทศแล้ว สามารถไปศึกษาต่อได้ทั้งทางด้านเทคนิค และด้านการบริหารจัดการหรือด้านธุรกิจ ทางด้านเทคนิค ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถไปศึกษาต่อได้ทั้งที่เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์โดยตรง เช่น ด้านระบบฐานข้อมูลในองค์กร ด้านเน็ตเวิร์ค ด้านความปลอดภัยของระบบคอมพิวเตอร์ ด้านระบบคอมพิวเตอร์อัจฉริยะหรือปัญญาประดิษฐ์ และที่นำคอมพิวเตอร์ไปประยุกต์ในงานสาขาอื่น เช่น ด้านสื่อสารมวลชน ด้านมัลติเมเดีย ด้านอะนิเมชั่น ด้านสารสนเทศเพื่อการแพทย์ ด้านสารสนเทศชีววิทยา ด้านการสร้างแบบจำลองเพื่อวิเคราะห์ทางเคมีและฟิสิกส์ เป็นต้น
ส่วนด้านการบริหารจัดการหรือด้านธุรกิจนั้น ผู้สำเร็จการศึกษาสามารถศึกษาต่อด้านการบริหารจัดการหรือเอ็มบีเอ ด้านการจัดการเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านการลงทุนเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านระบบสารสนเทศเพื่อบริหารงานบัญชี ด้านระบบสารสนเทศเพื่องานบุคคล ด้านระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหาร ด้านการประเมินและวิเคราะห์ความเสี่ยงของธุรกิจ เป็นต้น

ระบบสารสนเทศมีทางธุรกิจมีอะไรบ้าง

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการดำเนินธุรกิจ
                ผู้บริหารต้องคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างการดำเนินธุรกิจ เทคโนโลยี และการตัดสินใจที่ต้องกระทำอย่างสอดคล้องกัน ปัจจุบันผู้บริหารต้องประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศและ การตัดสินใจทางธุรกิจขององค์การอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดวิสัยทัศน์และสร้างโอกาสในการประยุกต์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่องค์การ ผู้บริหารต้องสามารถจัดการกับเทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถแบ่งเป็นขั้นตอนดังต่อไปนี้
1.  กำหนดกลยุทธ์องค์การที่ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีสารสนเทศ
2.  กำหนดแผนงานสารสนเทศระดับองค์การและการดำเนินงาน กำหนดโครงสร้างหน่วยงานสารสนเทศ
3. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศขององค์การ (information system infrastructure) เช่น อุปกรณ์ ชุดคำสั่ง ระบบสื่อสารและจัดการข้อมูล ระบบสำนักงานอัตโนมัติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการกำหนดศักยภาพ และความยืดหยุ่นในการปรับตัวของงานสารสนเทศในองค์การ
4.  กำหนดรายละเอียดการดำเนินงานภายในองค์การ พร้อมทั้งพัฒนาทรัพยากรบุคคลให้มีความพร้อมต่อการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดแก่องค์การ
ระบบสารสนเทศทางธุรกิจ
                ระบบสารสนเทศทางธุรกิจ (business information systems) เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อสนับสนุนให้การดำเนินงานของธุรกิจให้ดำเนินการอย่างเป็นระบบ โดยถูกออกแบบและพัฒนาให้ปฏิบัติงานตามหน้าที่ทางธุรกิจ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้ทั้งองค์การ สามารถประสานงานและใช้ข้อมูลร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับปฏิบัติงานและระดับบริหาร โดยเราสามารถจำแนกระบบสารสนเทศตามหน้าที่ทางธุรกิจตามหน้าที่ดังต่อไปนี้
1.  ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี (accounting information system)
2.  ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (financial information system)
3.  ระบบสารสนเทศด้านการตลาด (marketing information system)
4.  ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน (production and operations information system)
5.  ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล (human resource information system)


ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี
                        ปัจจุบันงานของนักบัญชีมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างมาก เนื่องจากเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยทำให้มีการพัฒนาชุดคำสั่งสำเร็จรูปหรือชุดคำสั่ง เฉพาะสำหรับช่วยในการเก็บรวบรวมและประมวลผลข้อมูล ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาและเพิ่มความถูกต้องใน การทำงานแก่ผู้ใช้ ทำให้นักบัญชีมีเวลาในการปฏิบัติงานเชิงบริหารมากขึ้น เช่น การออกแบบและพัฒนาระบบงาน พัฒนาระบบงบประมาณและระบบข้อมูลสำหรับผู้บริหาร เป็นต้น โดยที่ระบบสารสนเทศด้านการบัญชี (accounting information systems) หรือที่เรียกว่า AIS จะเป็นระบบที่รวบรวม จัดระบบ และนำเสนอสารสนเทศทางการบัญชีที่ช่วยในการตัดสินใจแก่ผู้ใช้สารสนเทศทั้งภายในและภายนอกองค์การ โดยระบบสารสนเทศทางการบัญชีจะให้ความสำคัญกับสารสนเทศที่สามารถวัดได้ หรือ การประมวลผล เชิงปริมาณมากกว่าการแก้ปัญหาเชิงคุณภาพ โดยระบบสารสนเทศด้านการบัญชีจะมีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วนคือ


                1.  ระบบบัญชีการเงิน (financial accounting system) บัญชีการเงินเป็นการบันทึกรายการคำที่เกิดขึ้นในรูปตัวเงิน จัดหมวดหมู่รายการต่าง ๆ สรุปผลและตีความหมายในงบการเงิน ได้แก่ งบกำไรขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ นำเสนอสารสนเทศแก่ผู้ใช้และผู้ที่สนใจข้อมูลทางการเงินขององค์การ เช่น นักลงทุนและเจ้าหนี้ นอกจากนี้ยังจัดเตรียมสารสนเทศในการตัดสินใจของผู้บริหาร ซึ่งนักบัญชีสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศใช้ในการประมวลข้อมูล โดยจดบันทึกลงในสื่อต่าง ๆ เช่น เทปหรือจานแม่เหล็ก เพื่อรอเวลาสำหรับทำการประมวลและแสดงผลข้อมูลตามต้องการ


                2.  ระบบบัญชีบริหาร (managerial accounting system) บัญชีบริหารเป็นการนำเสนอข้อมูลทางการเงินแก่ผู้บริหาร เพื่อใช้ในการตัดสินใจทางธุรกิจ ระบบบัญชีจะประกอบด้วย บัญชีต้นทุน การงบประมาณ และการศึกษาระบบ โดยมีลักษณะสำคัญคือ
*    ให้ความสำคัญกับการจัดการสารสนเทศทางการบัญชีแก่ผู้ใช้ภายในองค์การ
*    ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานในอนาคตของธุรกิจ
*    ไม่ต้องจัดทำสารสนเทศตามหลักการบัญชีที่รับรองทั่วไป
*    มีข้อมูลทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่เป็นตัวเงิน
*    มีความยืดหยุ่นและสามารถปรับให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งาน


AIS จะให้ความสำคัญกับการรวบรวมข้อมูลและการติดต่อสื่อสารทางการเงิน ซึ่งเป็นกระบวนการติดต่อสื่อสารมากกว่าการวัดมูลค่า โดยที่ AIS จะแสดงภาพรวม จัดเก็บ จัดโครงสร้าง ประมวลข้อมูล ควบคุมความปลอดภัย และการรายงานสารสนเทศทางการบัญชี ปัจจุบันการดำเนินงานและการไหลเวียนของข้อมูลทางการบัญชีมีความซับซ้อนมากขึ้น ทำให้นักบัญชีต้องกำหนดคุณสมบัติของสารสนเทศด้านการบัญชีให้สัมพันธ์กับการดำเนินงานขององค์การ ประการสำคัญ AIS และระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการจะมีทั้งส่วนที่แยกออกจากกันและเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน แต่ MIS  จะให้ความสำคัญกับการจัดการสารสนเทศสำหรับการตัดสินใจของผู้บริหาร ขณะที่ AIS จะประมวลสารสนเทศเฉพาะสำหรับผู้ใช้งานทั้งภายในและภายนอกองค์การ เช่น นักลงทุน เจ้าหนี้ และผู้บริหาร เป็นต้น
 ระบบสารสนเทศด้านการเงิน
                ระบบการเงิน (financial system) เปรียบเสมือนระบบหมุนเวียนโลหิตของร่างกายที่สูบฉีดโลหิตไปยังอวัยวะต่าง ๆ เพื่อให้การทำงานของอวัยวะแต่ละส่วนเป็นปกติ ถ้าระบบหมุนเวียนโลหิตไม่ดี การทำงานของอวัยวะก็บกพร่อง ซึ่งจะส่งผลกระทบโดย ตรงต่อระบบร่างกาย ระบบการเงินจะเกี่ยวกับสภาพคล่อง (liquidity) ในการดำเนินงาน เกี่ยวข้องกับการจัดการเงินสดหมุนเวียน ถ้าธุรกิจขาดเงินทุน อาจก่อให้เกิดปัญหาขึ้นทั้งโดยตรงและทางอ้อม โดยที่การจัดการทางการเงินจะมีหน้าที่สำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้
                1.  การพยากรณ์ (forecast) การศึกษา วิเคราะห์ การคาดกราณ์ การกำหนดทางเลือก และการวางแผนทางด้านการเงินของธุรกิจ เพื่อใช้ทรัพยากรทางการเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนักการเงินสามารถใช้หลักการทางสถิติและแบบจำลองทาง คณิตศาสตร์มาประยุกต์ การพยากรณ์ทางการเงิน จะอาศัยข้อมูลจากทั้งภายในและภายนอกองค์การ ตลอดจนประสบกราณ์ของผู้บริหารในการตัดสินใจ
                2.  การจัดการด้านการเงิน (financial management) เกี่ยวข้องกับเรื่องการบริหารเงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น รายรับและรายจ่าย การหาแหล่งเงินทุนจากภายนอก เพื่อที่จะเพิ่มทุนขององค์การ โดยวิธีการทางการเงิน เช่น การกู้ยืม  การออกหุ้นหรือตราสารทางการเงินอื่น เป็นต้น
                3.  การควบคุมทางการเงิน (financial control) เพื่อติดตามผล ตรวจสอบ และประเมินตวามเหมาะสมในการดำเนินงานว่าเป็นไปตามแผนที่กำหนดหรือไม่ ตลอดจนวางแนวทางแก้ไขหรือปรับปรุงให้การดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจมีประสิทธิภาพ โดยที่การตรวจสอบและการควบคุมการทางการเงินของธุรกิจสามารถจำแนกออกเป็น 2 ประเภทดังต่อไปนี้
*    การควบคุมภายใน (internal control)      
*    การควบคุมภายนอก (external control)
         ระบบสารสนเทศด้านการเงิน (finalncial information system) เป็นระบบสารสนเทศที่พัฒนาขึ้น สำหรับสนับสนุนกิจกรรมทางด้านการเงินขององค์การ ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินงาน และการควบคุมทางด้านการเงิน เพื่อให้การจัดการทางการเงินเกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยที่แหล่งข้อมูลสำคัญในการบริหารเงินขององค์การมีดังต่อไปนี้
                1.  ข้อมูลจากการดำเนินงาน (operatins data) เป็นข้อมูลที่ได้จากการปฏิบัติงานของธุรกิจ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการควบคุม ตรวจสอบ และปรับปรุงแผนการเงินขององค์การ
                2.  ข้อมูลจากการพยากรณ์ (forecasting data) เป็นข้อมูลที่ได้จากการรวบรวมและประมวลผล เช่น การประมาณค่าใช้จ่ายและยอดขายที่ได้รับจากแผนการตลาด โดยใช้เทคนิคและแบบจำลองการพยากรณ์ โดยที่ข้อมูลจากการพยากรณ์ถูกใช้ประกอบการวางแผน การศึกษาความเป็นไปได้ และการตัดสินใจลงทุน
                3.  กลยุทธ์องค์การ (corporate strategy) เป็นเครื่องกำหนดและแสดงวิสัยทัศน์ ภารกิจ วัตถุประสงค์ แนวทางการประกอบธุรกิจในอนาคต เพื่อให้องค์การบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ โดยที่กลยุทธ์จะเป็นแผนหลักที่แผนปฏิบัติการอื่น ต้องถูกจัดให้สอดคล้องและส่งเสิรมความสำเร็จของกลยุทธ์
                4.  ข้อมูลจากภายนอก (external data) ข้อมูลทางเศรษฐกิจและการเงิน สังคม การเมือง และปัจจัยแวดล้อมที่มีผลต่อธุรกิจ เช่น อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เป็นต้น โดยข้อมูลจากภายนอกจะแสดงแนวโน้มในอนาคตที่ธุรกิจต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานกราณ์


ระบบสารสนเทศด้านการบัญชีและระบบสารสนเทศด้านการเงินจะมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากข้อมูลทางการบัญชีจะเป็นข้อมูลสำหรับการประมวลผลและการตัดสินใจทางการเงิน โดยนักการเงินจะนำตัวเลจทางการบัญชีมาประมวลผลตามที่ตนต้องการ เพื่อให้ได้ข้อมูลสำหรับสนับสนุนการตัดสินใจทางการเงิน
ระบบสารสนเทศด้านการตลาด
      การตลาด (marketing) เป็นหน้าที่สำคัญทางธุรกิจ เนื่องจากหน่วยงานด้านการตลาดจะรับผิดชอบในการกระจายสินค้าและบริการไปสู่ลูกค้า ตั้งแต่การศึกษา และวิเคราะห์ความต้องการ การวางแผนและการสร้างความต้องการ ตลอดจนส่งเสริมการขายจนกระทั้งสินค้าถึงมือลูกค้า ปกติการตัดสินใจทางการตลาดจะเกี่ยวข้องกับการจัดส่วนประสมทางการตลาด (marketing mix) หรือ ส่วนประกอบที่ทำให้การดำเนินงานทางการตลาดประสบความสำเร็จ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยหลัก 4 ประการ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ (product) ราคา (price) สถานที่ (place) และการโฆษณา (promotion) หรือที่เรียกว่า 4Ps โดยสารสนเทศที่นักการตลาดต้องการในการวิเคราะห์ วางแผน ตรวจสอบ และควบคุมให้แผนการตลาดเป็นไปตามที่ต้องการมาจากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้
                1.  การปฏิบัติงาน (operations) เป็นข้อมูลที่แสดงถึงยอดขายและการดำเนินงานด้านการตลาด ตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยข้อมูลการปฏิบัติงานจะเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่ช่วยในการตรวจสอบ ควบคุม และวางแนวทางปฏิบัติให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในอนาคต
                2.  การวิจัยตลาด (marketing research) เป็นข้อมูลที่ได้จากการศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาด โดยเฉพาะพฤติกรรมและความสัมพันธ์ของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการของธุรกิจ โดยนักการตลาดจะทำการวิจัยบนสมมติฐานและการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ปกติข้อมูลในการวิจัยตลาดจะได้มาจากการรวบรวมข้อมูลปฐมภูมิ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ และการใช้แบบสอบถาม การวิจัยตลาดช่วยผู้บริหารในการวางแผนและการตัดสินใจทางการตลาด แต่อาจมีข้อจำกัดของความถูกต้องและความน่าเชื่อถือในการอธิบายพฤติกรรมของกลุ่มเป้าหมาย
                3.  คู่แข่ง (competitor) คำกล่าวที่ว่า “รู้เขารู้เรา รอบร้อยครั้งชนะทั้งร้อยครั้ง” แสดงความสำคัญที่ธุรกิจต้องมีความเข้าใจในคู่แข่งขันทั้งด้านจำนวนและศักยภาพ โดยข้อมูลจากการดำเนินงาน ของคู่แข่งขันช่วยให้ธุรกิจสามารถวางแผนการตลาดอย่างเหมาะสม ปกติข้อมูลจากคู่แข่งขันจะมีลักษณะไม่มีโครงสร้าง ไม่เป็นทางการ และมีแหล่งที่มีไม่ชัดเจน เช่น การทดลองใช้สินค้าหรือบริการ การสัมภาษณ์ลูกค้าและตัวแทนจำหน่าย การติดตามข้อมูลในตลาด และข้อมูลจากสื่อสารมวลชน เป็นต้น
                4.  กลยุทธ์ขององค์การ (corporate strategy) เป็นข้อมูลสำคัญทางการตลาด เนื่องจากกลยุทธ์จะเป็นเครื่องกำหนดแนวทางปฏิบัติของธุรกิจ และเป็นฐานในการกำหนดกลยุทธ์ทางการตลาดขององค์การ
                5.  ข้อมูลภายนอก (external data) การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และเทคโนโลยี ซึ่งจะส่งผลต่อโอกาสหรืออุปสรรคของธุรกิจ โดยทำให้ความต้องการของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์หรือบริการของลูกค้าขยายหรือหดตัว ตลอดจนสร้างคู่แข่งขันใหม่หรือ เปลี่ยนขั้นตอนและรูปแบบในการดำเนินงาน
สารสนเทศด้านการตลาดอาจจะมีความแตกต่างกันตามประเภทของธุรกิจซึ่ง เราสามารถจำแนกระบบย่อยของระบบสารสนเทศด้านการตลาดได้ดังต่อไปนี้
                1.  ระบบสารสนเทศสำหรับการขาย  สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อย 3 ระบบดังต่อไปนี้
*  ระบบสารสนเทศสำหรับสนับสนุนการขาย  จะรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของฝ่ายขาย เพื่อให้การขายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งข้อมูลที่ระบบต้องการจะเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่จะทำการขาย รูปแบบ ราคา และการโฆษณาต่าง ๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของลูกค้า นอกจากนี้อาจเกี่ยวกับช่องทางและ วิธีการขายสินค้าผ่านตัวแทนจำหน่ายในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทกับลูกค้า ตลอดจนคู่แข่งของผลิตภัณฑ์ที่จะขายและจำหน่ายสินค้าคงคลังของบริษัท
*  ระบบสารสนเทศสำหรับวิเคราะห์การขาย
จะรวบรวมสารสนเทศในเรื่องของกำไรหรือขาดทุนของผลิตภัณฑ์ ความสามารถของพนักงานขายสินค้า ยอดขายของแต่ละเขตการขาย รวมทั้งแนวโน้มการเติบโตของสินค้า ซึ่งสามารถหาข้อมูลได้จากรายงานต่าง ๆ เช่น รายงานการขาย รายงานของต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบ เป็นต้น
*  ระบบสารสนเทศสำหรับการวิเคราะห์ลูกค้าจะช่วยในการวิเคราะห์ลูกค้าเพื่อให้ทราบถึงรูปแบบของการซื้อและประโยชน์ที่ลูกค้าจะได้รับ เพื่อที่ธุรกิจจะสามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
               
                2.  ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด สามารถแบ่งออกเป็นระบบย่อยตามหน้าที่ได้ 2 ระบบ ดังต่อไปนี้
*  ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยลูกค้า  การวิจัยลูกค้าจะต่างกับการวิเคราะห์ลูกค้าตรงที่ว่าการวิจัยลูกค้าจะมีขอบเขต ของการใช้สารสนเทศกว้างกว่าการวิเคราะห์ลูกค้า โดยการวิจัยลูกค้าจะต้องการทราบสารสนเทศ ที่เกี่ยวกับลูกค้าในด้านสถานะทางการเงิน การดำเนินธุรกิจ ความพอใจ รสนิยมและพฤติกรรมการบริโภค
 *  ระบบสารสนเทศสำหรับการวิจัยตลาด 
การวิจัยตลาดจะให้ความสำคัญกับการหาขนาดของตลาดของแต่ละผลิตภัณฑ์ที่จะนำออกจำหน่าย ซึ่งอาจครอบคลุมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว หลังจากนั้นก็จะกำหนดส่วนแบ่งตลาดของผลิตภัณฑ์เพื่อทำการวางแผน กำหนดเป้าหมาย กำหนดกลยุทธ์และวางแผนกลยุทธ์ สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของการวิจัยตลาดคือสภาวะและแนวโน้มทาง เศรษฐกิจ ยอดขายในอดีตของอุตสาหกรรมหรือผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในตลาด รวมทั้งสภาวะการแข่งขันของผลิตภัณฑ์นี้ด้วย
                3.  ระบบสารสนเทศสำหรับการส่งเสริมการขาย  เป็นระบบที่ให้ความสำคัญกับแผนงานทางด้านการโฆษณาและส่งเสริมการขาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขาย เพิ่มยอดขายสินค้า และเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดให้สูงขึ้น  สารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือยอดขายของสินค้าทุกชนิดในบริษัท เพื่อให้รู้ว่าสินค้าใดต้องการแผนการส่งเสริมการขาย และสารสนเทศที่เกี่ยวกับผลกำไรหรือขาดทุนของสินค้าแต่ละชนิด เพื่อให้ความสำคัญกับสินค้าตัวที่ทำกำไร
                4.  ระบบสารสนเทศสำหรับการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการ  เป็นระบบสารสนเทศที่วิเคราะห์ถึงความเป็นไปได้ของผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ลักษณะและความต้องการของลูกค้าต่อผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่ต้องการของลูกค้าแต่ยังไม่มีตลาด โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการของระบบได้แก่ ยอดขายของผลิตภัณฑ์ประเภทเดียวกันในอดีต  เพื่อให้ทราบถึงขนาดและลักษณะของตลาด และการประมาณการต้นทุน เพื่อตอบคำถามให้ได้ว่าสมควรที่จะออกผลิตภัณฑ์ใหม่หรือไม่
                5.  ระบบสารสนเทศสำหรับพยากรณ์การขาย  เป็นระบบที่ใช้ในการวางแผนการขาย แผนการทำกำไรจากสินค้าหรือบริการในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของบริษัท ซึ่งจะส่งผลไปถึงการวางแผนการผลิต การวางกำลังคน และงบประมาณที่จะใช้เกี่ยวกับการขาย โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือ ยอดขายในอดีต สถานะของคู่แข่งขัน สภาวการณ์ของตลาด และแผนการโฆษณา


                6.  ระบบสารสนเทศสำหรับการวางแผนกำไร  เป็นระบบสารสนเทศที่ให้ความสำคัญกับการวางแผนทำกำไรทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของธุรกิจ  โดยสารสนเทศที่เป็นที่ต้องการคือสารสนเทศจากการวิจัยตลาด ยอดขายในอดีต  สารสนเทศของคู่แข่งขัน การพยากรณ์การขาย และการโฆษณา
                7.  ระบบสารสนเทศสำหรับการกำหนดราคา  การกำหนดราคาของสินค้านับว่าเป็นจิตวิทยาอย่างหนึ่งทางการตลาด เพราะต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า คู่แข่งขัน กำลังซื้อของลูกค้า โดยปกติแล้วราคาสินค้าจะตั้งจากราคาต้นทุนรวมกับร้อยละของกำไรที่ต้องการ โดยสารสนเทศที่ต้องการได้แก่ ตัวเลขกำไรของผลิตภัณฑ์ในอดีต เพื่อทำการปรับปรุงราคาให้ได้สัดส่วนของกำไรคงเดิม ในกรณีที่ต้นทุนมีการเปลี่ยนแปลง
                8.  ระบบสารสนเทศสำหรับการควบคุมค่าใช้จ่าย  บุคคลที่เป็นผู้ควบคุมค่าใช้จ่ายสามารถควบคุมได้โดยดูจากรายงานของผลการทำกำไร กับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงหรือสาเหตุของการคลาดเคลื่อนของค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขายรวมถึงค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เช่น เงินเดือน ค่าโฆษณา ค่าส่วนแบ่งการขาย เป็นต้น
                ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีส่วนสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะการขยายโอกาสและเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางการค้า ซึ่งทำให้นักการตลาดสมัยใหม่ต้องสามารถประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อก่อ ให้เกิดโอกาสและสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันแก่องค์การ ซึ่งจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในอาชีพของตน
ระบบสารสนเทศด้านการผลิตและการดำเนินงาน
                การผลิต (production) เป็นกระบวนการแปรรูปทรัพยากรการผลิต เช่น วัตถุดิบ แรงงาน และ พลังงาน ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่พร้อมในการจัดจำหน่ายแก่ลูกค้า โดยผู้ผลิตต้องพยากรณ์ปริมาณของผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้า โดยไม่ให้มีจำนวนมากหรือน้อยจนเกินไป ตลอดจนควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นที่ต้องการของลูกค้า โดยมีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม ปัจจุบันการขยายตัวของธุรกิจจากการผลิตเข้าสู่สังคมบริการ ทำให้มีการประยุกต์หลักการของการจัดการผลิตกับงานด้านบริการ ซึ่งเราจะเรียกการผลิตในหน่วยบริการว่า “การดำเนินงาน (operations)” โดยที่แหล่งข้อมูลในการผลิตและการดำเนินงานขององค์การมีดังต่อไปนี้
                1.  ข้อมูลการผลิต/การดำเนินงาน (production/operations data)  เป็นข้อมูลจากกระบวนการผลิตหรือการให้บริการ ซึ่งจะแสดงภาพปัจจุบันของระบบการผลิตของธุรกิจว่ามีประสทธิภาพมากน้อยเพียงใด และมีปัญหาอย่างไรในการดำเนินงาน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนในการแก้ปัญหาและการพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานในอนาคต
                2.  ข้อมูลสินค้าคงคลัง (inventory data) บันทึกปริมาณวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูปที่เก็บไว้ในโกดัง โดยผู้จัดการต้องพยายามจัดให้มีสินค้าคงคลังในปริมาณไม่เกินความจำเป็นหรือขาดแคลนเมื่อเกิดความต้องการขึ้น
                3.  ข้อมูลจากผู้ขายวัตถุดิบ (supplier data)  เป็นข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณ คุณสมบัติ และราคาวัตถุดิบ ตลอดจนช่วงทางและต้นทุนในการลำเลียงวัตถุดิบ ปัจจุบันการพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (electronic data interchange) หรือที่เรียกว่า EDI ช่วยให้การประสานงานระหว่างผู้ขายวัตถุดิบ ธุรกิจ และลูกค้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น
                4.  ข้อมูลแรงงานและบุคลากร (labor force and personnel data) ข้อมูลเกี่ยวกับพนักงานในสายการผลิตและปฏิบัติการ เช่น อายุ การศึกษา และประสบการณ์ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการจัดบุคลากรให้สอดคล้องกับงาน ขณะที่ข้อมูลภายนอกเกี่ยวกับตลาดแรงงานจะเป็นประโยชน์ในการวางแผนและจัดหาแรงงานทดแทน และการกำหนดอัตราค่าจ้างอย่างเหมาะสม
                5.  กลยุทธ์องค์การ (corporate strategy)  แผนกลยุทธ์ขององค์การจะเป็นแม่บทและแนวทางในการกำหนดกลยุทธ์การผลิตแลการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ
                การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานขององค์การ นอกจากจะส่งผลต่อการพัฒนาผลิตผล (productivity) ของธุรกิจ โดยเฉพาะการปฏิบัติ ตั้งแต่การตัดสินใจเกี่ยวกับการออกแบบและการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการ การปรับปรุงกระบวนการผลิต การควบคุมสินค้าคงคลัง การวางแผนคุณภาพ การเพิ่มผลผลิต และการควบคุมต้นทุนขององค์การให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำให้ระบบอุตสาหกรรมและระบบเศรษฐกิจโดยรวมเติบโตแล้ว ยังส่งผลต่อความคล่องตัวในการปฏิบัติงานและการจัดรูปแบบความสัมพันธ์ทางสังคมโดยทางตรงและทางอ้อม
การวางแผนความต้องการวัสดุ
         การบริหารทรัพยากรการผลิต โดยเฉพาะวัตถุดิบ (raw materials) เป็นหัวใจสำคัญของการจัดการด้านการดำเนินงานการผลิต ถ้าธุรกิจมีปริมาณวัตถุดิบมากเกินไปจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาสูง แต่ถ้ามีปริมาณวัตถุดิบน้อยเกินไปก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อแผนและกระบวนการผลิต ตลอดจนก่อให้เกิดค่าเสียโอกาสทางธุรกิจ  การวางแผนความต้องการวัสดุ (material requirement planning) หรือที่เรียกว่า MRP เป็นระบบสารสนเทศที่รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับระบบการผลิต  เพื่อประกอบการวางแผนความต้องการวัสดุเพื่อให้ธุรกิจสามารถจัดการวัตถุดิบอย่างมีประสิทธิภาพ โดย MRP ให้ความสำคัญกับสิ่งต่อไปนี้
1.  ไม่เก็บวัตถุดิบเพื่อรอการใช้งานไว้นานเกินไป ซึ่งก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาและความเสี่ยงในการสูญหายหรือสูญเสีย
2.  รายงานผลการผลิตและความเสียหายที่เกิดขึ้นตามระยะเวลาที่กำหนด
3.  ควบคุมสินค้าคงคลังอย่างเป็นระบบ
4.  มีการตรวจสอบ แก้ไข และติดตามผลข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น
                โดยที่ MRP  มีบทบาทต่อระบบการผลิตขององค์การตั้งแต่การจัดหาวัสดุ เพื่อทำการผลิตโดยการกำหนดปริมาณและระยะเวลาในการสั่งที่ประหยัดค่าใช้จ่าย ตลอดจนจัดเตรียมรายละเอียดของการผลิตในอนาคตซึ่งเราสามารถสรุปว่า MRP  มีข้อดีดังต่อไปนี้
1.  ลดการขาดแคลนวัตถุดิบที่จำเป็นในการผลิต
2.  ลดค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาวัตถุดิบและสินค้าคงคลัง
3.  ช่วยให้บุคลากรมีเวลาในการปฏิบัติงานอื่นมากขึ้น
4.  ประหยัดแรงงาน เวลา และค่าใช้จ่ายในการติดตามวัตถุดิบ
5.  ช่วยให้องค์การสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
                นอกจากระบบ MRP แล้ว ได้มีผู้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตและการดำเนินงาน เช่น การจัดการคุณภาพโดยรวม (total quality management) หรือที่เรียกว่า TQM และการผลิตแบบทันเวลาพอดี (just-in-time production) หรือที่เรียกว่า JIT เพื่อให้ได้การผลิตที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงขึ้น ซึ่งต่างต้องอาศัยระบบสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เกี่ยวข้องกับผู้ขายวัตถุดิบ (supplier) และลูกค้าภายนอกองค์การ ตลอดจนบุคลากรต้องมีความรู้และความสามารถใน การใช้งานระบบสารสนเทศด้านการผลิตขององค์การอย่างเต็มที่


ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล
                ระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคล (human resource information system) หรือ HRIS หรือระบบสานสนเทศสำหรับบริหารงานบุคคล (personnel information system) หรือ PIS เป็นระบบสารสนเทศที่ถูกพัฒนาให้สนับสนุนการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคล ตั้งแต่การวางแผน การจ้างงาน การพัฒนาและการฝึกอบรม ค่าจ้างเงินเดือน การดำเนินการทางวินัย ช่วยให้การบริหารทรัพยากรบุคคลเกิดประสิทธิภาพ โดยที่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรบุคคลจะมีดังนี้


                1.  ข้อมูลบุคลากร  เป็นข้อมูลของสมาชิกแต่ละคนขององค์การ ซึ่งประกอบด้วยประวัติเงินเดือนและ สวัสดิการ เป็นต้น
                2.  ผังองค์การ  แสดงโครงสร้างองค์การ การจัดหน่วยงานและแผนกำลังคน ซึ่งแสดงทั้งปริมาณและการจัดสรรทรัพยากรบุคคล
                3.  ข้อมูลจากภายนอก  ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลมิใช่ระบบปิดที่ควบคุมและดูแลสมาชิกภายในองค์การเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง  ซึ่งต้องการข้อมูลจากภายนอกองค์การ เช่น การสำรวจเงินเดือน อัตราการว่างงาน อัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
                การจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นงานสำคัญที่มิใช่เพียงแต่การปฏิบัติงาน ประจำวันที่เกี่ยวกับการควบคุมดูแลบุคลากรและค่าจ้างแรงงานเท่านั้น แต่ต้องเป็นการดำเนินงานเชิงรุก (proactive) การประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศในการดำเนินงานช่วย ให้งานทรัพยากรบุคคลมีประสิทธิภาพขึ้น โดยที่การพัฒนาระบบสารสนเทศด้านทรัพยากรบุคคลต้องพิจารณาปัจจัยสำคัญ 5 ประการดังต่อไปนี้
                1.  ความสามารถ  (capability) หมายถึงความพร้อมขององค์การและบุคคลในการประยุกต์เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยต้องพิจารณาความสามารถของบุคลากร 3 กลุ่มคือ
*     ผู้บริหารระดับสูงต้องพร้อมที่จะสนับสนุนด้านนโยบาย กำลังคน กำลังเงิน และวัสดุอุปกรณ์ในการพัฒนาระบบสานสนเทศขององค์การ
*     ฝ่ายทรัพยากรบุคคลต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และตื่นตัวในการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาประยุกต์ เพื่อให้การทำงานในหน่วยงานมีความคล่องตัวขึ้น
*     ฝ่ายสารสนเทศที่ต้องทำความเข้าใจและออกแบบระบบงานให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้ในแต่ละกลุ่ม
                2.  การควบคุม (control) การพัฒนา HRIS จะให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของสารสนเทศโดยเฉพาะการเข้า ถึงและความถูกต้องของข้อมูล เนื่องจากข้อมูลด้านทรัยพากรบุคคลจะเกี่ยวข้องกับความเป็นส่วนตัวของสมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะมีผลต่อชื่อเสียงและผลได้-ผลเสียของบุคคล จึงต้องมีการจัดระบบการเข้าถึงและจัดการข้อมูลที่รัดกุม  โดยอนุญาตให้ผู้มีหน้าที่และความรับผิดชอบในแต่ละหน่วยงานสามารถ เข้าถึงและปรับปรุงสารสนเทศในส่วนงานของตนเท่านั้น
                3.  ต้นทุน (cost) ปกติการดำเนินงานด้านทรัพยากรบุคคลจะมีต้นทุนที่สูง ขณะเดียวกันก็จะไม่เห็นผลตอบแทนที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงขององค์การทั้งในด้านการขยายตัวและหดตัวซึ่งจะมีผลกระทบต่อบุคลากร ดังนั้นฝ่ายบริหารและทรัพยากรบุคคลสมควรมีข้อมูลที่เหมาะสมในการตัดสินใจ เป็นต้น ขณะเดียวกัน การลงทุนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศจะมีค่าใช้จ่ายสูง ซึ่งฝ่ายบริหารสมควรต้องพิจารณาผลตอบแทนที่ได้รับจากการพัฒนาระบบว่าคุ้มค่ากับต้นทุนที่ใช้ไปหรือไม่
                4.  การติดต่อสื่อสาร (communication) หมายถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศต้องศึกษาการไหลเวียนของสารสนเทศ (inforamtion flow) ภายในองค์การและความสัมพันธ์ระหว่างองค์การกับสภาพแวดล้อมภายนอก ตลอดจนเตรียมการในการสื่อสารข้อมูล เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องรับทราบ เกิดความเข้าใจและทัศนคติที่ดีกับการนำระบบสารสนเทศมาประยุกต์ใช้
                5.  ความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ปัจจุบันการพัฒนา HRIS ไม่เพียงแต่ช่วยให้การดำเนินงานขององค์การมีประสิทธิภาพขึ้น  แต่ยังมีส่วนสำคัญในการสร้างศักยภาพและความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่ธุรกิจ
                ปัจจุบันเราต่างยอมรับว่า คนเป็นหัวใจสำคัญของธุรกิจ แต่ทรัพยากรบุคคลเป็นทรัพยากรมีค่าใช้จ่ายสูงที่ธุรกิจ ต้องรับภาระทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น เงินเดือน สวัสดิการ และข้อมูลผูกพันในสัญญาจ้างงาน HRIS เป็นระบบสารสนเทศที่นำเสนอข้อมูลการตัดสินใจซึ่งเกิดประโยชน์แก่องค์การและสมาชิกแต่ละคน ซึ่งจะช่วยให้ผู้บริหารสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับงานด้านทรัพยากรบุคคลอย่างถูกต้องขึ้น

ระบบสารสนเทศมีกี่ประเภทอะไรบ้าง

ประเภทของระบบสารสนเทศ มี 5 ประเภท ได้แก่


1ระบบการประมวลผลทางธุรกิจ (Transaction Processing System : TPS)
           ระบบการประมวลผล เป็นการประมวลผลแบบวันต่อวัน เช่น การรับ-จ่ายบิลระบบควบคุมสินค้าคงคลัง ระบบการรับ-จ่าย สินค้า เป็นต้น ใช้งานในระดับผู้ปฏิบัติการ ระบบนี้ เป็นระบบสารสนเทศลำดับแรกที่ได้รับการพัฒนาให้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ลักษณะเด่นของ TPS : ทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานง่าย ไม่ยุ่งยากซับซ้อนสิ่งที่ องค์กรจะได้รับเมื่อใช้ระบบนี้ คือ ลดจำนวนพนักงาน องค์กรจะมีการบริการที่สะดวกรวดเร็ว ลูกค้ามีจำนวนเพิ่มมากขึ้น

2.ระบบสารสนเทศเพื่อการจัดการ (Management Information System : MIS)
     คือ ระบบที่เกี่ยวข้องกับผู้ บริหารที่ต้องการการประมวลผลของเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ให้ประโยชน์มากกว่าการ ช่วยงานแบบวันต่อวัน ประกอบไปด้วยโปรแกรมต่างที่จัดทำขึ้นเป็นพิเศษเพื่อขยายขอบเขตความสามารถของธุรกิจ
ลักษณะเด่นของ MIS :
1 จะสนับสนุนการทำงานของระบบประมวลผลข้อมูลและการจัดเก็บ ข้อมูลรายวัน
2 จะช่วย ให้ผู้บริหารระดับต้น ระดับกลาง และระดับสูง เรียกใช้ ข้อมูลที่เป็นโครงสร้างได้ตามเวลาที่ต้องการ
3จะมีความยืดหยุ่นและสามารถรองรับความต้องการข้อมูลที่ เปลี่ยนแปลงไปขององค์กร
4ต้องมีระบบรักษาความลับของข้อมูล และจำกัดการ ใช้งานของบุคคลเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น

3.ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Support System : DSS)
       คือระบบที่ทำหน้าที่จัดเตรียม สารสนเทศเพื่อช่วยในการตัดสินใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อช่วย ในการตัดสินใจที่ไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้า เช่น การตัดสิน ใจเกี่ยวกับการรวมบริษัทและการหาบริษัทร่วม การขยายโรงงาน ผลิตภัณฑ์ใหม่
ลักษณะเด่นของ DSS :
1.จะช่วย ผู้บริหารในกระบวนการการตัดสิน
2 จะถูกออกแบบมาให้สามารถเรียกใช้ทั้งข้อมูลแบบ กึ่งโครงสร้างและแบบไม่มีโครงสร้าง
3 จะต้อง สามารถสนับสนุนผู้ตัดสินใจได้ในทุกระดับ แต่จะเน้น ที่ระดับวางแผนบริหารและวางแผนยุทธศาสตร์
4 มีรูปแบบการใช้งานอเนกประสงค์ มีความ สามารถในการจำลองสถานการณ์ และมีเครื่องมือในการ วิเคราะห์สำหรับช่วยเหลือผู้ทำการตัดสินใจ

4 ระบบสารสนเทศเพื่อผู้บริหารระดับสูง (Executive Information System : EIS)
        คือ EIS ประเภท พิเศษ ที่ถูกพัฒนาสำหรับผู้บริหารระดับสูงโดยเฉพาะช่วย ให้ผู้บริหารระดับสูงที่ไม่คุ้นเคยกับเครื่องคอมพิวเตอร์สามารถใช้ระบบ สารสนเทศได้ง่ายขึ้น โดยใช้เมาส์เลื่อนหรือจอภาพแบบ สัมผัส เพื่อเชื่อมโยงข่าวสารระหว่างกัน ทำให้ผู้บริหารไม่ต้องจำคำสั่ง
ลักษณะเด่นของ EIS
1ไม่จำเป็นต้องมีทักษะทางคอมพิวเตอร์สูง
2 ระบบสามารถใช้งานได้ง่าย
3 มีความยืดหยุ่นสูง จะต้องสามารถเข้ากันได้กับรูปแบบการทำงานของผู้บริหาร
4 การใช้งาน ใช้ในการตรวจสอบ ควบคุม
5 การสนับสนุนการตัดสินใจ ผู้บริหารระดับสูง ไม่มีโครงสร้างที่แน่นอน
6 การสนับสนุนข้อมูล ทั้งภายในและภายนอกองค์กร
7 ผลลัพธ์ที่แสดง ตัวอักษร ตาราง ภาพและเสียง รวมทั้งระบบมัลติมีเดีย
8 การใช้งานกราฟิกสูง จะใช้รูปแบบการนำเสนอต่าง ๆ
9 ความเร็วในการตอบสนอง จะต้องตอบสนองอย่างรวดเร็ว ทันทีทันใด

5.ระบบผู้เชี่ยวชาญ(Artificial Intelligence/Expert System : AI/ES)
               หมายถึง ระบบที่ทำให้เครื่อง คอมพิวเตอร์กลายเป็นผู้ชำนาญการณ์ในสาขาใดสาขาหนึ่ง โดยได้รับ ความรู้จากมนุษย์ผู้เชี่ยวชาญเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์เพื่อให้คอมพิวเตอร์ สามารถวิเคราะห์เหตุผล เพื่อตัดสินใจ ระบบคอมพิวเตอร์นี้ประกอบด้วย ฐานความรู้(Knowledge Base) และกฎข้อวินิจฉัย(Inference Rule) ซึ่งเป็นความ สามารถเฉพาะที่ทำให้ระบบคอมพิวเตอร์สามารถตัดสินใจได้เอง เช่น การวินิจฉัยความผิดพลาดของรถจักรดีเซลไฟฟ้า โดยใช้คอมพิวเตอร์
ลักษณะเด่นของ AI/ES
1 ป้องกันและรักษาความรู้ซึ่งอาจสูญหายไปขณะทำการเรียกข้อมูลหรือการยกเลิกการใช้ข้อมูล การใช้ข้อมูล ตลอดจนการสูญหาย เนื่องจากขาดการเก็บรักษาความรู้ อย่างเป็นระบบ และเป็นระเบียบ แบบแผน
2 ระบบผู้เชี่ยวชาญ Expert System จะจัดเตรียมข้อมูลให้อยู่ในลักษณะที่พร้อมสำหรับนำไปใช้งาน และมักจะถูกพัฒนาให้สามารถตอบสนอง ต่อปัญหาในทันทีที่เกิดความต้องการ
3 การออกแบบระบบผู้เชี่ยวชาญ Expert System มักจะคำนึงถึงการบันทึกความรู้ในแต่ละสาขาให้เพียงพอและเหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งจะทำให้ ระบบสามารถปฏิบัติงานแทนผู้เชี่ยวชาญ อย่างมีประสิทธิภาพ
4 ระบบผู้เชี่ยวชาญ Expert System จะสามารถตัดสินปัญหาอย่างแน่นอ น เนื่องจากระบบถูกพัฒนาให้สามารถปฏิบัติงานโดยปราศ จากผล กระทบ ทางร่างกายและอารมณ์ที่มีอยู่ในตัวมนุษย์เช่น ความเครียด ความเจ็บ ป่วย เป็นต้น
5 ระบบผู้เชี่ยวชาญ Expert System เป็นเครื่องมือเชิงกลยุทธ์ของธุรกิจ โดยเฉพาะองค์การสมัยใหม่
 ( Modern Organization ) ที่ต้องการ สร้าง ความได้เปรียบในการแข่งขันเช่น การวิเคราะห์และวางแผนการตลาด การลดต้นทุน การเพิ่มการผลิตภาพ เป็นต้น

ระบบสารสนเทศมีความสำคัญอย่างไร

ความสำคัญของระบบสารสนเทศ
        ปัจจุบันองค์กรต่าง ๆ ได้เริ่มมองเห็นความสำคัญและความจำเป็นที่จะต้องมีระบบสารสนเทศที่ถูกต้องและ รวดเร็วแม่นยำ เพื่อประโยชน์ในการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน จึงมีการตั้งเป้าหมายของระบบสารสนเทศเพื่อประโยชน์ดังนี้
เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน (Effectiveness)
เพิ่มผลผลิต (Productive)
เพิ่มคุณภาพในการบริการลูกค้า (Quality)
ผลิตสินค้าใหม่และขยายผลิตภัณฑ์ (New Product and increase product)

ถ้าจะกล่าวถึงระบบสารสนเทศ กับองค์การมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรก็บอกได้เลยว่าระบบสารสนเทศนี้ถือได้ว่าเป็นระบบหนึ่งซึ่งมีความสำคัญต่อการบริหารองค์การ เพราะระบบสารสนเทศดีจะช่วยให้การเก็บรวบรวมข้อมูลการจัดทำสารสนเทศ การรับและส่งต่อข้อมูล และสารสนเทศทั้งภายในและภายนอกองค์การด้วยเทศโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology) ดำเนินการเชื่อมโยงอย่างมีระบบ ซึ่งโดยทั่วไปในองค์การจะจัดแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

ระบบสารสนเทศกับการจัดการระดับสูง (Top management)
          ในเรื่องการกำหนดแผนแม่บท และแผนกลยุทธ์ในระยะยาวขององค์การไปปฏิบัติให้ประสบความสำเร็จ รวมถึงแผนการเงินขององค์การอาจกล่าวได้ว่ามีความสำคัญอย่างมากต่อการสร้างความสำเร็จหรือความสำเร็จหรือความล้มเหลวขององค์การ เลยที่เดียว

ระบบสารสนเทศกับการจัดการระดับกลาง ซึ่งลักษณะของสารสนเทศที่ผู้บริหารระดับกลางต้องการก็จะมีความละเอียดมากกว่าผู้บริหารระดับสูงที่ตัองการเพียงข้อสรุปและลักษณะของการตัดสินใจก็มีแบบแผนในบางส่วน ส่งผลทำให้ทุกหน่วยงานมีการประสานข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจและ ตอบสนองต่อวัตถุประสงค์และเป้าหมายในระดับสูงต่อไป

ระบบสารสนเทศกับการจัดการระดับต้น
เนื่องจากการบริหารงานประจำวันมีลักษณะที่มีรูปที่แน่นอน มีการกำหนดขั้นตอน วิธีการทำงาน ระเบียบต่าง ๆ ลักษณะการตัดสินใจจึงมีแบบแผนที่แน่นอนและชัดเจน มีลักษณะเฉพาะเรื่อง มีรายละเอียดมาก และ ลึกเฉพาะด้าน การที่มีระบบสารสนเทศที่ช่วยสนับสนุนต่อการจัดการในระดับต้นจะช่วยให้การทำงานในระดับล่างเกิดความคล่องตัว ยังช่วยให้ผู้บริหารระดับต้นสามารถใช้ส
มีารสนเทศที่มีอยู่ในการตัดสินใจและวางแผนในระยะสั้นได้เป็นอย่างดีและประสิทธิภาพอีกด้วย โดยความเป็นจริงแล้ว ระบบสารสนเทศสามารถจะมีทั้งระบบสารสนเทศที่ใช้แรงงาน หรือ ระบบสารสนเทศที่ทำงานด้วยมือ (Manual Information Systems) และระบบสารสนเทศที่อิงการใช้คอมพิวเตอร์ (Computer-Based Information Systems, CBIS) เป็นระบบสารสนเทศซึ่งใช้คอมพิวเตอร์ฮาร์ดแวร์ และคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์เพื่อทำการประมวลผลและกระจายสารสนเทศ ระบบสารสนเทศโดยส่วนใหญ่จะเป็นระบบที่อิงการใช้คอมพิวเตอร์ ดังนั้น ระบบสารสนเทศที่จะกล่าวถึงในที่นี้ทั้งหมดจะเป็นระบบสารสนเทศที่อิงการใช้คอมพิวเตอร์

ทำไหมต้องเรียนระบบสารสนเทศ

            เพราะ  ระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีสารสนเทศกลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จในธุรกิจและการจัดการองค์กร  จึงมีการจัดตั้งสาขาด้านบริหารและการจัดการ    นี่เป็นสาเหตุว่าทำไมต้องเรียนเกี่ยวกับระบบสารสนเทศ ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้จัดการ  ผู้ประกอบการ หรือนักธุรกิจมืออาชีพ ระบบสารสนเทศ  เป็นสิ่งที่สำคัญที่คุณจะต้องมีพื้นฐานความเข้าใจ   เหมือนที่คุณเข้าใจสาขาวิชาอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ